top of page
Writer's pictureIdea Irin

5 Reasons of Tooth Pain that don't involve Cavity

ฟันไม่ผุ แต่ทำไมปวดฟัน?: สาเหตุของอาการปวดฟันที่ไม่ได้เกิดจากฟันอาจเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คิด
การเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาการเจ็บปวดบริเวณใบหน้าและขากรรไกรว่าเป็นอาการปวดที่มีสาเหตุมาจากฟันเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งทั้งกับผู้ป่วย แพทย์ และทันตแพทย์ สาเหตุหลักของอาการปวดฟันที่สามารถพบเจอได้ เช่น โรคฟันผุ เนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันอักเสบ หนองอักเสบปลายรากฟัน ฟันคุด และโรคเหงือกอักเสบนั้น ผู้ป่วยสามารถสังเกตุเห็นที่มาของอาการปวดได้ชัดเจนในบริเวณช่องปากของตนเอง แต่ก็มีอาการปวดฟันจำนวนไม่น้อย ซึ่งอาจไม่ได้มีจุดเริ่มต้นมาจากฟันของผู้ป่วย หากฟันและเหงือกของคุณไม่มีรอยโรค ผุ คุด หรืออักเสบเลย แต่ยังคงมีอาการปวดฟันอยู่ นี่อาจเป็นสัญญาณของปัญหาที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวฟัน เช่น

ขอบคุณภาพจาก: https://www.colgate.com/en-ph/oral-health/adult-oral-care/what-is-referred-tooth-pain

1. โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า
โรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่จนถึงผู้ป่วยสูงอายุคือโรคปวดประเส้นประสาทบนใบหน้า โดยที่ใบหน้าด้านใดด้านหนึ่งของผู้ป่วยจะมีอาการปวดอย่างรุนแรง รวมไปถึงบริเวณกระพุ้งแก้ม เหงือก และฟัน จนบางครั้งอาการปวดเหล่านี้อาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคฟันผุ ซึ่งนำไปสู่การถอนฟันหลายซี่โดยไม่จำเป็น การปวดของโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าจะเกิดขึ้นโดยฉับพลัน อาการเหมือนไฟช็อต แสบร้อน หรือโดนเข็มแทง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ซ้ำๆ ถี่ๆ เป็นพักๆ ตลอดวัน จนทำให้ผู้ป่วยหลายรายมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงต่อสิ่งกระตุ้น เช่น การล้างหน้า แปรงฟัน โกนหนวด และการพูดคุย เป็นต้น
การบรรเทาอาการปวด สามารถทำได้โดยการทานยากแก้ปวดประสาท เช่น Tegretol, Dilantin, หรือ Neurontin แต่ในผู้ป่วยบางรายเมื่อทานยาไประยะหนึ่ง มักได้รับประสิทธิภาพที่ลดลงจากช่วงแรก มีผลให้ต้องเปลี่ยนวิธีการรักษา

ขอบคุณภาพจาก: pain-health.com/conditions/facial-pain/trigeminal-neuralgia-causes-and-risk-factors

2. ความผิดปกติของข้อต่อขากกรไกร
ภาวะความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร คือการที่มีการสะดุดของข้อต่อขากรรไกรในขณะที่มีการเคลื่อนที่ ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดบริเวณข้อต่อขากรรไกรและ/หรือกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้อง จนบางครั้งร่างกายเราสามารถเกิดการสับสนกับอาการปวดฟันได้ ซึ่งถึงแม้ว่าภาวะความผิดปกติของข้อต่อขากกรไกรจะสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ทำให้วินิฉัยสาเหตุได้ยาก แต่ภาวะนี้มักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และรักษาได้ด้วยการปรับพฤติกรรม ในบางกรณี แพทย์หรือทันแพทย์อาจแนะนำให้รักษาร่วมกับการใช้ยาแก้ปวด ยาคลายกังวล หรือยาคลายกล้ามเนื้อ แต่หากการรักษาแบบประคับประคองไม่ได้ผล ผู้ป่วยอาจมีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด

3. ไซนัสอักเสบ
ไซนัสอักเสบ คือโรคหรือภาวะที่มีการอักเสบของเยื่อบุภายในไซนัส โดยอาจจะมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ภูมิแพ้ หรืออาการหวัด ซึ่งทำให้เยื่อบุเกิดการบวม อักเสบ และอุดตันรูเปิดของไซนัส อาการที่บ่งบอกถึงไซนัสอักเสบ ได้แก่ อาการมึนศีรษะ ปวดบริเวณโหนกแก้ม ใต้ตา รอบๆดวงตา ขมับ กลางศีรษะ หรือท้ายทอย ร่วมกับมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่ได้มีอาการข้างต้นทั้งหมด บางครั้งอาจมีเพียงอาการมึน ศีรษะ ง่วงเหงาหาวนอน มีน้ำมูกและคัดจมูก อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งอาการสำคัญที่สามารถบ่งบอกถึงอาการไซนัสอักเสบเรื้อรังได้ก็คือ อาการปวดฟัน โดยเฉพาะบริเวณฟันกรามซี่บนที่มักจะปวดพร้อมกันหลายซี่ ซึ่งแตกต่างจากอาการปวดฟันที่เกิดจากฟันผุที่มักจะปวดบริเวณซี่ใดซี่หนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้เมื่ออาการไซนัสอักเสบได้บรรเทาลง อาการปวดฟันที่เกิดการไซนัสอักเสบก็ควรจะหายไปเช่นกัน

4. ไมเกรน
ปวดหัวไมเกรนคือการปวดศีรษะที่มีลักษณะเป็นการปวดแบบตุบๆ ปวดข้างเดียวเป็นส่วนใหญ่ แต่ในผู้ป่วยบางรายก็อาจปวดสองข้างได้ อาการปวดไมเกรน สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด ไซนัสอักเสบ กล้ามเนื้อทำงานหนัก ปัญหาด้านสายตา หรือความผิดปกติของสมอง อาการปวดไมเกรนจะค่อยๆทวีความรุนแรงมากขึ้น และมีอาการข้างเคียงต่างๆ ในที่นี้อาจมีอาการปวดฟันร่วมด้วย ผู้ป่วยไมเกรนจำนวนไม่น้อยมีอาการปวดหัวไมเกรนควบคู่กับอาการปวดฟัน บางคนปวดหัวก่อนแล้วค่อยมีอาการปวดฟันตามมา ในทางกลับกัน ผู้ป่วยบางรายอาจเริ่มจากการปวดฟันแล้วลามไปปวดหัวได้เช่นกัน อาการปวดฟันที่นำไปสู่การปวดหัวเหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจาก ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร การสบฟัน และการบดเคี้ยว ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อในส่วนต่างๆทำงานอย่างไม่สมดุลกัน และดึงรั้งไปถึงศีรษะทำให้ปวดหัวขึ้นมานั่นเอง ดังนั้นเมื่อคนไข้มีอาการปวดหัวและปวดฟันมาควบคู่กัน สิ่งที่จำเป็นคือต้องหาจุดเริ่มต้นของปัญหาให้พบ เพื่อที่จะได้รักษาอาการปวดได้อย่างถูกวิธี

5. โรคหัวใจ
โรคหัวใจ เป็นโรคที่ทุกคนต่างรู้จักกันดี ซึ่งหนึ่งในสัญญาณของโรคหัวใจก็คือ อาการเจ็บหน้าอก แต่เนื่องจากในช่องอกมีอวัยวะสำคัญต่างๆมากมายจึงมีอาการเจ็บหน้าอกเพียงบางชนิดเท่านั้นที่เป็นสัญญาณของภาวะหัวใจขาดเลือด หนึ่งในนั้นคือ อาการเจ็บ แน่น อึดอัด บริเวณกลางหน้าอกซ้าย หรือทั้งสองด้าน กระทั่งในผู้ป่วยบางราย มีอาการปวดร้าวไปที่แขนซ้าย หรือทั้งสองข้าง จุกแน่นที่คอ จนไปถึงบริเวณกราม นำมาสู่ความปวดที่คล้ายกับอาการปวดฟัน โดยผู้ป่วยที่มีอาการข้างต้น แต่ยังไม่เคยผ่านการตรวจและวินิฉัย ควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที
ถึงแม้ว่าอาการปวดฟันอาจจะเป็นเพียงอาการเล็กๆที่ทำให้คุณรู้สึกน่ารำคาญและเบื่อมากกว่าความรู้สึกปวดหรือเจ็บรุนแรง แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า สาเหตุของอาการปวดฟันที่พบได้ ในบางครั้งอาจไม่ได้มาจากปัญหาของสุขภาพในช่องปากเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าอาการปวดฟันของคุณเป็นแบบไหน รุนแรงมากน้องเพียงใด เราแนะนำให้ท่านรีบพบแพทย์หรือทันตแพทย์ เพื่อหาและกำจัดสาเหตุของอาการปวดฟัน และลดความเสี่ยงในการดำเนินโรคที่อาจร้ายแรงกว่าที่คุณคิด ทั้งนี้ทั้งนั้น หากท่านยังไม่แน่ใจและต้องการคำปรึกษา ก็สามารถรับการปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและรับยา ผ่านบริการโทรเวรช-กรรม (Telemedicine) ที่ตู้ DooRae ใกล้บ้านคุณ :)

5 views0 comments

Recent Posts

See All

Comments


bottom of page